ซีกัล ดีไซน์ คอนเทสต์ ครั้ง ที่ 10 Seagull The Survival Design Contest 2017 #10th กับโจทย์สุดหิน “24 ชม.ประลองความคิด พิชิตเงินแสนจากซีกัล”
สุดยอดการประกวดออกแบบเครื่องครัวที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมประชันศึกไอเดียด้านการออกแบบ กับโจทย์ 24 ชม.ประลองความคิด พิชิตเงินแสนจากซีกัล โดย " อัญมณี ถาวรคุณ" นักศึกษาจาก ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัลพิชิตเงินแสน กับผลงาน MIRAC ชุดเครื่องครัวและอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน ในภาวะภัยพิบัติ
นายสิทธิชัย เรืองจรุงพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด บริษัท ฯ เปิดโอกาสให้ศึกษาด้านการออกแบบมีเวทีในการแสดงความสามารถด้านการออกแบบและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในสถาณการณ์จริงค่อนข้างน้อย ทางบริษัทฯ จึงเปิดพื้นที่ให้นักศึกษา หรือ ผู้ที่สนใจด้านการออกแบบสมัครเข้ามาประชันด้านไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ โดยซีกัล ดีไซน์ คอนเทสต์ ได้จัดต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 10 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Seagull The Survival Design Contest 2017 #10th "ซีกัล 24 ชม. ประลองความคิด พิชิตเงินแสน"
โดยการแข่งขันครั้งนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมประชัน แบ่งรอบคัดเลือกเป็น 3 รอบ คัดออกรอบละ 15 คน คงเหลือผู้ผ่านเข้ารอบตัดสินเพียง 15 คนเท่านั้น และทั้ง 15 คนต้องออกแบบเครื่องครัว ภายใต้โจทย์ "Survivor Cookware" เครื่องครัวที่สามารถใช้ในภาวะภัยพิบัติ โดยใช้เวลาคิดและออกแบบ พร้อมนำเสนอภายใน 5 ชั่วโมง ส่วนเกณฑ์ในการตัดสินนั้น คณะกรรมการจะตัดสินจาก ความคิดสร้างสรรค์ การใช้งาน ความเป็นไปได้ในการผลิต และคะแนนเก็บจากกิจกรรมต่างๆ โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบ ได้แก่ คุณจตุพร สุคันธมาลย์ Design Director บริษัท K2Exhibit จำกัด ผศ. ดร.ภาษิต ลีนิวา จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ อาจารย์วิรุฬห์ วุฒิฤทธากุล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โดยผลงานที่ชนะใจกรรมการ ได้แก่ผลงานการออกแบบ ที่ชื่อว่า MIRAC ชุดเครื่องครัวและอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน ในภาวะภัยพิบัติ ออกแบบโดย อัญมณี ถาวรคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จาก ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะอุตสาหกรรม ได้เผยถึงแนวคิดในการออกแบบผลงานชิ้นนี้ว่า "โดยส่วนตัวชอบงานออกแบบด้านเฟอร์นิเจอร์ พอมาเจอโจทย์ "Survivor Cookware" ให้ออกแบบเครื่องครัวที่สามารถใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ จึงนำไอเดียจากเดิมที่ชอบด้านการดีไซน์ด้านเฟอร์นิเจอร์มาผสมผสานกับเครื่องครัว จึงเกิดแนวคิดว่า หากต้องเกิดแผ่นเด่นไหว หรือ เหตุการณ์ไม่คาดคิด เฟอร์นิเจอร์ หรือ โต๊ะ นับว่าเป็นจุดกำบัง และหลบภัยได้ดี ดังนั้นจึงออกแบบ MIRAC ซึ่งย่อมาจากคำว่า MIRACLE หมายถึง " ปาฏิหาริย์" การมีชีวิตรอดในภาวะฉุกเฉินนับว่าเป็นปาฏิหาริย์ ซึ่งการออกแบบชุดเครื่องครัวนี้ สามารถนำมาติดตั้งกับใต้โต๊ะ หรือ หลุมหลบภัยได้ ขนย้ายง่าย มีความแข็งแรง และเมื่อสไลด์เปิดออกมาจะเจอเตาแก๊ส และ เจอกระทะรูปสี่เหลี่ยม ตามขนาดกล่อง สามารถทำอาหารได้ปริมาณมาก อีกทั้งยังมีพื้นที่ในเก็บสะเบียงได้อีกด้วย
"โจทย์การแข่งขันครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของผู้เข้าแข่งขันเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกคนไม่มีใครทราบถึงโจทย์ล่วงหน้า ต้องออกแบบภายใต้แรงกดดันในเวลาจำกัด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในโลกของการทำงานจริง ความเหนื่อยล้า ความกดดัน ล้วนเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องผ่านไปให้ได้ แต่ละคนต่างก็แสดงความสามารถออกมาได้ดีในเวลาที่จำกัด โดยผลงาน MIRAC ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น เป็นผลงานที่ทำคะแนนได้ดีและเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดทั้งความคิดสร้างสรรค์ การใช้งาน ความเป็นไปได้ในการผลิต อย่างไรก็ตามผลงานของน้องๆนักศึกษาคนอื่นก็ทำได้ดีเช่นกัน แต่ทางคณะกรรมต้องเลือกผลงานที่สมบูรณ์แบบที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้"นายสิทธิชัย เรืองจรุงพงศ์ กล่าวสรุป